การควบคุมแมลงศัตรูพืชและวัชพืชโดยชีววิธี
รศ.ดร.วิวัฒน์ เสือสะอาด และคณะนักวิจัยจากศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ร่วมกันดำเนินการศึกษาวิจัยถึงการใช้ประโยชน์ของด้วงงวงผักตบชวาในการควบคุมผักตบชวาโดยชีววิธีในประเทศไทย ผักตบชวาจัดเป็นวัชพืชน้ำที่สำคัญชนิดหนึ่ง คนไทยเรียกชื่อแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่นผักตบชวา บัวลอย ผักตบ ผักป่อง ผักโป่ง ผักบ่ง ผักบอง ผักปอด ผักสะวะ สะวะ ปัจจุบันพบการแพร่กระจายของผักตบชวาตามแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ก่อให้เกิดปัญหาต่อแหล่งน้ำ ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำได้อย่างเต็มที่ ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบนิเวศของแหล่งน้ำ รวมไปถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย ปัญหาที่เกิดจากการแพร่ระบาดของผักตบชวา ได้แก่ การขัดขวางการระบายน้ำและการชลประทาน อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสัญจรทางน้ำและการประมง การควบคุมผักตบชวาโดยชีววิธี นับว่าเป็นวิธีการหนึ่งที่มีความปลอดภัยทั้งต่อผู้ใช้และสภาพแวดล้อม และผลของการควบคุมที่มีความยั่งยืนถาวร เพราะเป็นการควบคุมโดยใช้หลักสมดุลทางธรรมชาติ อีกทั้งต้นทุนในการดำเนินงานอยู่ในระดับที่ยอมรับได้เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการอื่นๆ แต่อาจจะต้องใช้ระยะเวลาก่อนที่ผลของการควบคุมจะปรากฏออกมาชัดเจน ด้วงงวงผักตบชวาลายแต้ม ถูกนำเข้ามาจากประเทศสหรัฐอเมริการเมื่อปี พ.ศ. 2520 และ 2522 ส่วนด้วงงงวงผักตบชวาลายบั้งถูกนำเข้าจากประเทศออสเตรเลียเมื่อปี พ.ศ. 2522 และเริ่มมีการปลดปล่อยเพื่อควบคุมผักตบชวาครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อ ปี พ.ศ. 2522 ปัจจุบันพบด้วงงวงผักตบชวาทั้งสองชนิดในพื้นที่ที่มีผักตบชวาขึ้นอยู่ ลักษณะของรอยแผลที่เกิดจากด้วงงวงผักตบชวาทำลาย โดยความหนาแน่นของประชากรด้วงงวงผักตบชวาจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป พบว่าต้นผักตบชวาที่มีจำนวนด้วงต่อต้นสูงจะส่งผลให้ร้อยละของใบที่ถูกทำลาย และจำนวนรอยแผลต่อใบสูงตามไปด้วย แต่จะส่งผลให้จำนวนไหลต่อต้นและความยาวก้านใบของผักตบชวาลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ลดอัตราการเพิ่มจำนวนต้นผักตบชวา ซึ่งพื้นที่ใดที่จำนวนแผลต่อใบตั้งแต่ 200 แผลขึ้นไป ถือการการควบคุมในพื้นที่นั้นได้ประสบผลสำเร็จ การเพาะเลี้ยงด้วงงวงผักตบชวา ดำเนินการโดยนำต้นผักตบชวา มาปลูกไว้ในบ่อดินขนาดใหญ่ ทำการปลดปล่อยด้วงงวงผักตบชวาทั้งสองชนิดเพื่อให้ขยายพันธุ์และตั้งรกรากในบ่อเพาะเลี้ยง สังเกตเมื่อต้นผักตบชวาในบ่อโทรมลง จึงทำการนำต้นผักตบชวาใหม่มาเติมลงในบ่อ ซึ่งวิธีการดังกล่าวด้วงงวงผักตบชวาจะสามารถตั้งรกรากและขยายพันธุ์จนมีปริมาณมากในแหล่งเพาะเลี้ยง ซึ่งจะสามารถเก็บตัวเต็มวัยของด้วงงวงผักตบชวาทั้งสองชนิดในแหล่งเพาะเลี้ยงดังกล่าวไปปลดปล่อยในแหล่งน้ำต่างๆ ได้ตลอดทั้งปี การปลดปล่อยด้วงงวงผักตบชวาทั้งสองชนิด คือ ด้วงงวงผักตบชวาลายแต้ม N. eichhorniae และด้วงงวงผักตบชวาลายบั้ง N. bruchi ทำโดยการเก็บรวบรวมตัวเต็มวัยด้วงงวงผักตบชวาดังกล่าว จากแหล่งเพาะเลี้ยงและจากแหล่งน้ำอื่นๆ ที่มีประชากรด้วงงวงผักตบชวาหนาแน่น ตัวเต็มวัยด้วงงวงผักตบชวาที่เก็บรวบรวมได้ จะบรรจุใส่กล่องพลาสติกและใส่ใบผักตบชวาเป็นอาหาร เพื่อที่จะนำออกไปปลดปล่อยในแหล่งน้ำต่างๆ ต่อไป
รศ.ดร.วิวัฒน์ เสือสะอาด (หัวหน้าโครงการ)
ศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ ภาคกลาง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
ตู้ ป.ณ.1 อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม 73140
เบอร์ติดต่อ: โทรศัพท์ 0-3428-2307, 0-3428-1265 โทรสาร 0-3435-1881
E-mail: agrwis@ku.ac.th