เพิ่มผลผลิต มูลค่ามาตรฐานและ Brand ปลาหนังลูกผสม
เพิ่มผลผลิต มูลค่ามาตรฐานและ Brand ปลาหนังลูกผสม
การเพาะเลี้ยงปลาหนังน้ำจืดซึ่งเป็นอาชีพที่มีความสำคัญ ต่อความมั่นคงทางอาหารเศรษฐกิจและสุขภาพของชุมชน เนื่องจากอาหารสัตว์น้ำจากธรรมชาติมีจำนวนลดลง มากกว่านั้นปลาหนังที่เพาะเลี้ยงเดิมๆ มีมูลค่าน้อยไม่ได้คุณภาพ และไม่เป็นที่ต้องการของตลาด จึงได้คิดค้นระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำครบวงจร ตั้งแต่การคัดพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์จนได้เป็นสายพันธุ์ใหม่ โดยการวิเคราะห์รูปร่างและพันธุกรรมที่จำเพาะ (โตดี เนื้ออร่อย และดีต่อสุขภาพ) กับระบบการเลี้ยงที่ได้มาตรฐานสัตว์น้ำที่ดี โดยมีการคิดค้นระบบการเลี้ยงปลาแบบครบวงจร มีวัตถุประสงค์เพื่อ เพื่อหาวิธีการขั้นตอนการเพาะเลี้ยงปลาหนังแบบที่เลี้ยงง่าย โตไว ทำให้ได้เนื้อปลาที่มีคุณภาพดี มีสีและกลิ่นของเนื้อปลาที่ดี เหมาะสำหรับเป็นปลาน้ำจืดเศรษฐกิจต่อไป
การพัฒนาระบบการเพิ่มผลผลิต มูลค่า มาตรฐานและ Brand ปลาหนังลูกผสมสำหรับวิสาหกิจชุมชน ปลาบึก (Pangasianodon gigas) เป็นปลาน้ำจืดประเภทไม่มีเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีถิ่นกำเนิดเดิมในลุ่มแม่น้ำโขง เป็นปลาที่มีการเจริญเติบโตดีมาก จัดอยู่ในวงศ์เดียวกันกับปลาสวาย ปลาเทพา ปลาเทโพ ลักษณะภายนอกที่แตกต่างจากปลาหนังขนาดใหญ่ชนิดอื่น ได้แก่ ลักษณะของฟันและหนวดปลาบึกไม่มีฟันและเกือบจะไม่มีหนวด โดยที่ปลาวัยอ่อนมีฟันและกินปลาอื่นเป็นอาหาร แต่เมื่อโตขึ้นฟันจะหลุดไป และมีตาซึ่งจะอยู่ต่ำกว่ามุมปาก เนื้อปลาบึกนอกจากมีรสชาติดีแล้ว ยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูงอีกด้วย โดยประกอบไปด้วย โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน และกรดไขมันหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย จึงทำให้เกษตรกรจำหน่ายได้ราคาดี ปลาสวาย (Pangasius hypophthalmus) เป็นปลาที่เลี้ยงในประเทศไทยมานาน แต่มีข้อจำกัดในเรื่องการเจริญเติบโตช้า สีเนื้อมีสีเหลือง ไม่ค่อยได้รับความนิยมในการบริโภค แต่มีข้อดีในเรื่องของการเจริญพันธุ์ และความดกไข่ที่ดี จึงมักนำมาผสมกับปลาหนังชนิดอื่น เช่น ปลาบึก ปลาสวาย เพื่อเพิ่มผลผลิตและปรับปรุงสีเนื้อให้ขาวออกชมพู
การคัดพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์ปลาลูกผสมรุ่นที่ 1 (F1) อายุ 2-3 ปี จนได้เป็นสายพันธุ์ใหม่ คือ ปลาลูกผสมรุ่นที่ 2 (F2) โดยสามารถแยกรูปร่างและพันธุกรรมจำเพาะของปลาลูกผสมฯ มีลักษณะเด่น เช่น เจริญเติบโตดี เนื้ออร่อย เจริญพันธุ์ได้ดี เป็นที่ยอมรับของเกษตรกรและผู้บริโภค (ภาพที่ 3 และตารางที่ 1) การเพาะเลี้ยงปลาลูกผสมเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันนิยมเลี้ยงกันมากขึ้น ทั้งในบ่อดินและ ในกระชัง สิ่งที่ควรต้องให้ความสำคัญในเรื่องการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่ดีเพื่อผลิตลูกปลาที่มีสายพันธุ์ที่ดี และมีคุณลักษณะเป็นที่ต้องการของตลาด และพบว่าปลาหนังลูกผสมเจริญเติบโตและเจริญพันธุ์ได้ดีกว่าปลาสวาย
ตารางที่ 1 บ่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ ปลาลูกผสมที่เป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ต้องมีอายุกว่า 3 ปีขึ้นไป ไม่ควรมากกว่า 10 ปี มีน้ำหนักกว่า 3 กิโลกรัม โดยปกติจะปล่อย 300 ตัว/ไร่
บ่อที่เลี้ยงควรมีขนาดใหญ่และมีความลึกกว่าบ่อเลี้ยงปลาเนื้อธรรมดา อย่างน้อยควรมีขนาด 1 ไร่ ความลึก 2-3 เมตร มีระบบท่อส่งน้ำและระบายน้ำเพื่อช่วยการเจริญเติบโตและการเจริญพันธุ์ การให้อาหารโปรตีน 30 เปอร์เซ็นต์ ให้อัตรา 2 เปอร์เซ็นต์ น้ำหนักต่อวัน อาหารที่นิยมใช้จะมีส่วนประกอบของ ปลายข้าวต้ม 22 เปอร์เซ็นต์ ปลาป่น 22 เปอร์เซ็นต์ กากถั่วเหลือง 18 เปอร์เซ็นต์ รำละเอียด 33 เปอร์เซ็นต์ และวิตามินหรือใช้สาหร่ายสไปรูลิน่า 5 เปอร์เซ็นต์ คุณสมบัติของน้ำเหมาะสมโดยเฉพาะค่าออกซิเจน ความเป็นกรด น้ำที่มีออกซิเจนต่ำ และมีความเป็นกรดสูง จะมีผลต่อความอุดมสมบูรณ์ การพัฒนา และปริมาณของไข่และอสุจิ ขั้นตอนที่กำหนดความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลา คือ บ่อปลาควรอยู่กลางแจ้ง อุณหภูมิที่เหมาะสมควรมีค่า 30-35 องศาเซลเซียส มีการถ่ายเทน้ำสม่ำเสมอ การอนุบาลหลังจากผสม อัตราการฟักเป็นตัวหลังผสม 30 ชั่วโมง จะอนุบาลในบ่อซีเมนต์ขนาด 4 ตารางเมตร น้ำลึก 1 เมตร เมื่อลูกปลาอายุ 3-6 วัน ให้ไข่แดง อาร์ทีเมีย และไรแดง (อัตรา 100 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักตัว) อายุ 7-10 วัน จำนวน 10,000 ตัว ให้ไรแดง ปลาป่น และรำละเอียด อัตราส่วน 1:2:1 (อัตรา 30 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักตัว) หลังจากนั้นย้ายอนุบาลในบ่อดิน ขนาด 100 ตารางเมตร ให้ปลาป่นผสมรำละเอียด ปลายข้าว และอาหารลูกกบ และอายุ 11-30 วัน ให้อาหารลูกกบ (อัตรา 10 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักตัวต่อวันๆ ละ 3 ครั้ง) จนครบ 30 วัน จะได้ลูกปลาขนาดประมาณ 5-10 กรัม มีความยาวประมาณ 3 นิ้ว ซึ่งสามารถนำไปเลี้ยงต่อในบ่อดินหรือกระชังให้ได้ขนาดตลาด และมีอัตรารอดตายหลังการผสมและอนุบาลมากสุดเฉลี่ย 20 เปอร์เซ็นต์ ได้ลูกปลาขนาด 2-5 นิ้ว อายุ 1-2 เดือน สำหรับผลิตลูกปลาให้กับบ่อสาธิต และเกษตรกรที่ผ่านการอบรมที่สนใจต้องการเลี้ยงปลา
มาตรฐาน การปฏิบัติทางการประมงที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำ (GAP สำหรับสัตว์น้ำ) เป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานและหลักเกณฑ์สำหรับกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐานที่กำหนด ได้ผลผลิตสูงคุ้มค่าการลงทุนและขบวนการผลิตจะต้องปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค มีการใช้ทรัพยากรที่เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดความยั่งยืนทางการเกษตรและไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยหลักการนี้ได้รับการกำหนดโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ผลผลิตและผลิตภัณฑ์ประมงที่ได้ถูกประกาศไว้ใน ประกาศกรมประมง เรื่อง มาตรฐานกระบวนการผลิต ผลผลิตและผลิตภัณฑ์ประมง ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อให้กระบวน การผลิต ผลผลิต และผลิตภัณฑ์ประมงของผู้ประกอบการประมงเป็นไปตามมาตรฐานสากล ดังนั้นกรมประมงจึงได้ประกาศกำหนดมาตรฐานและหลักเกณฑ์สำหรับกระบวนการผลิต ผลผลิตและผลิตภัณฑ์ประมงขึ้น ตัวอย่างการเลี้ยงในกระชัง ณ ชุมชนบ้านจอมแจ้ง ตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ กระชังขนาดประมาณ 30 ตารางเมตร ปล่อยปลาหนังลูกผสม อายุประมาณ 2 เดือน อัตราการปล่อยประมาณ 1 ตารางเมตร/ตัว ให้อาหารปลาเม็ดลอยโปรตีน 30 เปอร์เซ็นต์ ในอัตรา 3 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว/วัน การเจริญเติบโตของปลาในกระชังและบ่อดิน พบว่ามีน้ำหนักและอัตราการเจริญเติบโต/วันเพิ่มขึ้น
ลักษณะอาหาร 3 สูตร สำหรับการผลิตเนื้อปลาที่อุดมด้วยโอเมก้าอาหารปลาผสมน้ำมันปลา (ซ้าย) สาหร่ายเตา (กลาง) และน้ำมันปลากับสาหร่ายเตา (ขวา)
อาหารปลาผสมน้ำมันปลา (ซ้าย) สาหร่ายเตา (กลาง) และน้ำมันปลากับสาหร่ายเตา (ขวา)
อาหารเม็ดจมไม่ผสมและผสมเนเปียร์ทดแทนปลาป่นและสีเนื้อ
ตัวอย่างการเลี้ยงปลาลูกผสมบึกสยามฯ ลูกปลาบึก และลูกปลาสวาย ขนาด 6-10 นิ้ว ในกระชังขนาด 1 x 1 x 1 เมตร อัตราการปล่อย 10 ตัว/ตารางเมตร ให้อาหารระดับโปรตีน 30 เปอร์เซ็นต์ ในอัตรา 5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว หลังจากการเลี้ยงนาน 4 เดือน พบว่ามีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และมีอัตรารอดดีที่สุด เนื่องจากปลาลูกผสมเมื่อมีขนาดใหญ่และอายุมากขึ้น จะกินพืชหรือสาหร่ายเป็นหลักจึ่งได้ศึกษาการใช้อาหารเม็ดในการเลี้ยงปลาบึกลูกผสมอายุ 6 เดือน เลี้ยงนาน 6 เดือน การผลิตอาหารปลาคุณภาพจากวัสดุท้องถิ่น เช่น ปลาป่น ผสมหญ้าเนเปียร์หรือสาหร่ายน้ำจืดและน้ำมันปลา สำหรับเกษตรกรในเครือข่ายโดย การใช้อาหารเม็ดจมผสมหญ้าเนเปียร์บดแทนปลาป่น 50 เปอร์เซ็นต์ อัตราการให้อาหาร 3 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว/วัน วันละ 2 ครั้ง พบว่าไม่มีความแตกต่างทางด้านการเจริญเติบโต แต่ด้านต้นทุนค่าอาหารสูตรอาหารที่ทดแทนปลาป่นด้วยหญ้าเนเปียร์ มีราคาต้นทุนถูกกว่าสูตรอาหารปกติ มีสีเนื้อไม่เหลืองและมีกลิ่นโคลนน้อยกว่าชุดที่ใช้ปลาป่นและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมากกว่า
การเลี้ยงปลาบึกสยามที่ในกระชัง และสีเนื้อปลาเมื่ออายุ 16 เดือน ตารางการเจริญเติบโตและต้นทุนค่าอาหารในการเลี้ยงปลาลูกผสม (พ่อปลาเทโพ x แม่ปลาสวาย) และปลาลูกผสมบึกสยามฯ ในบ่อดิน ณ ฐานเรียนรู้ปลาบึกฯ คณะเทคโนโลยีการประมงฯ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
ตารางประมาณค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงปลาลูกผสมบึกสยามฯ ในกระชังและบ่อดิน ของเกษตรกรในเครือข่าย ณ ฟาร์มบริษัทบ้านนอกคอกนา จังหวัดเชียงใหม่
การแปรรูปเพิ่มมูลค่าและการสร้าง brand จากเนื้อปลาขนาดตลาดที่นิยมบริโภค ขนาด 1.5- 2 กิโลกรัม เป็นผลิตภัณฑ์ปลาลูกผสม 4 ชนิด ได้แก่ ปลาแล่เนื้อ ไส้กรอก ไส้อั่ว และปลาส้ม
ล้างทำความสะอาดตัวปลาแล้วนำไปแช่น้ำแข็งเป็นเวลา 2-4 ชั่วโมง จากนั้นแล่เนื้อปลาทั้งสองข้าง (ซ้ายและขวา) จะได้เนื้อประมาณ 40-45 เปอร์เซ็นต์ การทำปลาสไลด์หลวกจิ้ม ทำได้โดยการสไลด์เนื้อปลาเป็นชิ้นบางๆ จากนั้นต้มน้ำให้เดือดใส่ขิงแก่ ใบมะกรูด ตะไคร้ ลงไปเพื่อดับกลิ่นคาวของปลาหรืออาจใช้น้ำซาวข้าว นำเนื้อปลาที่สไลด์แล้วไปลวกไม่ควรลวกให้สุกหรือดิบจนเกินไป หรือนำไปบรรจุถุงสุญญากาศเพื่อเป็นวัตถุดิบในการทำเมนูอาหารพร้อมทาน เช่น ทอดกระเทียม ต้มยำ ผัดฉ่า และสเต็กปลา
เพื่อให้ระบบการเพาะเลี้ยงปลาลูกผสมพัฒนาได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพและมีดัชนีชี้วัด เช่น จำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาฯ มูลค่าผลผลิต ความยั่งยืนของธุรกิจ การตอบสนองของผู้บริโภคและศูนย์เรียนรู้ชุมชน มีมูลค่าและปริมาณเพิ่มขึ้นตลอดจนการได้รางวัลในระดับประเทศและนานาชาติ ซึ่งจะให้ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงปลาหนังลูกผสม การทำอาหารปลาจากวัสดุท้องถิ่น การเลี้ยงปลาหนังลูกผสมให้ได้มาตรฐานที่ดีสู่อินทรีย์ การตรวจวิเคราะห์น้ำสำหรับการเพิ่มผลผลิต การแปรรูป และออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าจากปลาหนังลูกผสม การให้คำปรึกษาวางแผนติดตามให้กับเกษตรกรในพื้นที่ การเป็นแหล่งศึกษาดูงานและจัดอบรมเชิงปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เม่งอ้าพัน (หัวหน้าโครงการ)
คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 63 หมู่ 4 ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ 50290
เบอร์ติดต่อ: 0 5387 3470 ต่อ 123 และ 08 1883 7925 โทรสาร 0 5349 8178
E-mail: kriangsakm@mju.ac.และ thmengumpa@mju.ac.th