การเพาะเลี้ยงมวนตัวห้ำอีแคนทีโคน่า
มวนตัวห้ำอีแคนทีโคน่า Eocanthecona furcellata (Wolff)
เป็นแมลงมีประโยชน์ที่ช่วยกำจัดหนอนของแมลงศัตรูพืชได้ทุกชนิด เช่น หนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอม หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนแก้วส้ม และหนอนตัวบุ้งต่างๆเป็นต้น มวนตัวห้ำ จะเข้าทำลายเหยื่อโดยการใช้ปากที่เป็นแท่งยาวแหลมคมเจาะเข้าไปในผนังลำตัวหนอน และปล่อยสารเข้าไปทำให้ หนอนเป็นอัมพาตขยับตัวไม่ได้ จากนั้นจึงดูดกินของเหลวภายในตัวหนอนจนตัวแห้งเหี่ยวตายแล้วมวนก็จะไปหาหนอนตัวอื่นกินต่อไป มวนตัวห้ำชนิดนี้ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินหนอนเป็นอาหารเท่านั้นไม่ทำลายพืช
วงจรชีวิตมวนตัวห้ำอีแคนทีโคน่า
ไข่: เมื่อออกมาใหม่ ๆ มีสีครีมอ่อนและสีเข้มขึ้นจนเป็นสีเทา เมื่อไกล้ฟักเปลี่ยนเป็นสีส้มอ่อนในสภาพไร่ทั่วไปมวนตัวเต็มวัยมักวางไข่เป็นกลุ่มตามใบพืช โดยไข่แต่ละกลุ่มมี 11-89 ฟอง ระยะฟักไข่ประมาณ 6-8 วัน
ภาพ ไข่มวนตัวห้ำอีแคนทีโคน่า
ตัวอ่อน: ระยะตัวอ่อนของมวนตัวห้ำมี 5 วัย ตัวอ่อนวัยแรกที่ออกมาจากไข่ใหม่ๆ มักอยู่รวมกันเป็นกลุ่มและดูดกินน้ำเป็นอาหาร หลังจากลอกคราบเป้นตัวอ่อนวัยที่ 2 จึงเริ่มมีนิสัยเป็นตัวห้ำ โดยดูดกินหนอนต่างๆเป็นอาหาร ลักษณะตัวอ่อนมีลำตัวสีแดงเข้ม หัวและขาสีดำยังไม่มีปีก ระยะตัวอ่อนตั้งแต่วัยที่ 1 ถึงวันที่ 5 ใช้เวลา 15-21 วัน จึงเข้าสู่ระยะตัวเต็มวัย
ภาพ ตัวอ่อนมวนตัวห้ำอีแคนทีโคน่า
ตัวเต็มวัย: ตัวเต็มวัยของมวนตัวห้ำ เมื่อมองทางด้านหลังจะมองเห็นเป็นรูปสามเหลี่ยม ทั้งตัวผู้และตัวเมีย ลำตัวมีสีเหมือนกันคือ สีเทาดำ และมีจุดหรือแถบสีเหลืองอ่อนสลับเป็นลายตลอดปีกคู่หน้าและอก ตัวเมียมีขนาดลำตัวใหญ่กว่าตัวผู้ โดยตัวเต็มวัยตัวเมีย มีอายุ 15-41 วัน ส่วนตัวเต็มวัยตัวผู้มีอายุ 10-30 วัน ตัวเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ 180-312 ฟอง
ภาพ ตัวเต็มวัยมวนตัวห้ำอีแคนทีโคน่า
ความสามารถในการกำจัดหนอนของมวนตัวห้ำชนิดนี้ นับเป็นแมลงที่เกษตรกรน่าจะนำไปใช้ในการกำจัดแมลงศัตรูพืชในแปลงเพาะปลูกของตนเอง เพื่อทดแทนการใช้สารเคมีกำจัด ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับจากการ ใช้มวนตัวห้ำคือช่วยควบคุมแมลงศัตรูพืชไม่ให้เกิดการระบาดทำลายพืชผล ลดการใช้สารเคมีกำจัดแมลง และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อมที่สำคัญคือ ทำให้ต้นทุนในการผลิตของเกษตรกรต่ำกว่าการใช้สารเคมีกำจัด แมลงโดยเฉพาะในระยะยาว จากการทดลองสรุปได้ว่า ประชากรของมวนตัวห้ำในแปลงที่ปลดปล่อยมีสูงขึ้น หลังจากปลดปล่อยมวนไปแล้ว 3 เดือน ส่วนประชากรของหนอนกระทู้ผักในแปลงปลดปล่อยเริ่มลดลงจนมีประชากรต่ำกว่าแปลงที่ไม่ได้ปลดปล่อยมวนตัวห้ำซึ่งแสดงให้เห็นว่ามวนตัวห้ำอีแคนทีโคน่ามีประสิทธิภาพดีในการควบคุมประชากรของแมลงศัตรูพืชในสภาพไร่ การศึกษาการปลดปล่อยมวนตัวห้ำเพื่อควบคุมหนอนกระทู้ผักในแปลงเผือก ทำการทดลองโดยใช้แปลงเผือก 3 แปลง ซึ่ง แต่ละแปลงมีพื้นที่ประมาณ 1.5 ไร่บริเวณอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ได้แก่ แปลงที่ตำบลรางพิกุล เป็นแปลงที่ไม่ได้ปลดปล่อยมวนตัวห้ำ ส่วนอีก 2 แปลง คือ แปลงที่ตำบลทุ่งบัวและแปลงที่ศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติภาคกลาง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นแปลงที่ปลดปล่อยมวนตัวห้ำ การปลดปล่อยมวนจะทำทุกๆ 2 สัปดาห์ เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งทำการปลดปล่อยและประเมินผลอย่างต่อเนื่องโดยละเอียด
วิวัฒน์ เสือสะอาด (หัวหน้าโครงการ)
ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม 73140
เบอร์ติดต่อ: 0 3428 1265 และ 0 3435 1886 โทรสาร 0 3435 1881
E-mail: agrwis@ku.ac.th