มาตรฐานการเลี้ยงกุ้งและการชำแหละจระเข้สยามเพื่อการส่งออก
ในปัจจุบันมาตรฐานเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ผลิตจะต้องกำหนดมาตรฐานและคำนึงถึงเป็นอันดับแรกเพื่อให้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้รับการยอมรับ และเชื่อมั่นจากลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นมหาวิทยาลัยมหิดลจึงคำนึงถึงความสำคัญในเรื่องการพัฒนามาตรฐานการเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งในฟาร์มและการเลี้ยงเพื่อการส่งออก รวมทั้งการผลิตผลิตภัณฑ์ให้เพียงพอตอบสนองต่อความต้องการของตลาด เนื่องจากเห็นว่าการผลิตสัตว์น้ำมีส่วนเกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม แรงงาน สังคม และปัจจุบันแนวคิดของผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการคำนึงถึงความยั่งยืนในธุรกิจ สัตว์น้ำมีมากขึ้น และความต้องการได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคที่ต้องการความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยและคุณภาพ ทางมหาวิทยาลัย จึงได้ทำการศึกษาค้นคว้าในเรื่อง สารชีวโมเลกุลสำหรับกระตุ้นการวางไข่ในแม่พันธุ์กุ้ง และเรื่องการพัฒนามาตรฐานการเลี้ยง การชำแหละจระเข้สยามเพื่อการส่งออก และการสร้างความเชื่อมั่นในการเรื่องการอนุรักษ์จระเข้สยามในพื้นที่ธรรมชาติของประเทศไทยแก่ประเทศคู่ค้าผลิตภัณฑ์จากจระเข้ในระดับนานาชาติ
สารชีวโมเลกุลสำหรับกระตุ้นการวางไข่ในแม่พันธุ์กุ้ง
การใช้สารชีวโมเลกุลสำหรับกระตุ้นการวางไข่ในแม่พันธุ์กุ้งนี้เป็นการกระตุ้นการพัฒนารังไข่และการวางไข่ในแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำและแม่พันธุ์กุ้งขาวอย่างต่อเนื่องโดยไม่ตัดตา ด้วยการใช้โมโนโคลนอลแอนติบอดีในการยับยั้งฮอร์โมนยับยั้ง การพัฒนารังไข่อย่างจำเพาะโดยที่แม่พันธุ์กุ้งยังมีสุขภาพที่แข็งแรง ให้ลูกกุ้งที่มีคุณภาพ และมีผลผลิตที่เทียบเคียงได้กับวิธีการตัดตา นอกจากนี้ยังสามารถนำแม่พันธุ์กุ้งมากระตุ้นการวางไข่ซ้ำได้อีก ซึ่งจะช่วยลดการใช้แม่พันธุ์กุ้ง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลูกกุ้งลดลง อีกทั้งเป็นการผลิตลูกกุ้งโดยคำนึงถึงชีวจริยธรรมที่ช่วยหลีกเลี่ยงประเด็นทารุณสัตว์ที่อาจถูกหยิบยกเป็นประเด็นทางการค้าในอนาคต นับเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน
การพัฒนามาตรฐานการเลี้ยง การชำแหละจระเข้สยามเพื่อการส่งออก และการสร้างความเชื่อมั่น ในเรื่องการอนุรักษ์จระเข้สยามในพื้นที่ธรรมชาติของประเทศไทยแก่ประเทศคู่ค้าผลิตภัณฑ์จากจระเข้ในระดับนานาชาติ
แม้ว่าในแต่ละปีประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงจระเข้สยามได้จำนวนมาก แต่พบว่ายังมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการตลาดโลกในการผลิตหนังจระเข้จึงทำให้เห็นโอกาสของเกษตรกรไทยที่จะส่งผลิตภัณฑ์จากจระเข้ออกขายในตลาดระดับนานาชาติได้อีกเป็นจำนวนมาก หากแต่พบว่าการเลี้ยงและการผลิตจระเข้ของประเทศไทยนั้นยังขาดองค์ความรู้และมาตรฐานในการเลี้ยงและการผลิตอย่างมาก ทำให้เกิดความสูญเสียในการผลิตจระเข้มาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งประเทศไทยยังไม่สามารถส่งผลิตภัณฑ์จากจระเข้เข้าสู่ประเทศคู่ค้าที่สำคัญในหลายๆ ประเทศได้ เนื่องจากประเทศคู่ค้าเหล่านั้นยังมีมาตรการการกีดกันทางการค้าโดยอาศัยข้อกำหนดในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส (CITES) ที่ยังไม่อนุญาตให้ประเทศไทยส่งออกจระเข้สยามได้อย่างอิสระ สร้างความยุ่งยากอย่างมากแก่ผู้ส่งออกโดยให้เหตุผลว่าประเทศไทยมีจระเข้ในธรรมชาติน้อยมาก ดังนั้น แนวทางการเพาะพันธุ์และการเลี้ยงจระเข้ที่เหมาะสมของประเทศไทยถูกพัฒนาขึ้นเพื่อต้องการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการเลี้ยงจระเข้ของไทย โดยใช้หลักวิชาการที่ถูกต้องในการจัดการสุขภาพสัตว์และหลักสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี การมีมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงเชือดชำแหละจระเข้ ทำให้สามารถได้ผลิตภัณฑ์จากจระเข้ที่มีคุณภาพที่ดีและปลอดภัยต่อผู้บริโภค การอนุรักษ์และเพิ่มจำนวนประชากรจระเข้สยามในธรรมชาติเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ประเทศคู่ค้าให้ยอมรับในอุตสาหกรรมการเลี้ยงจระเข้ของไทย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออกต่อไป ตลอดจนการพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ อาทิ เทคโนโลยีการตรวจระบุพันธุ์แท้ของจระเข้ พัฒนาการตรวจโรคติดเชื้อ พัฒนาวัคซีนป้องกันโรค เป็นต้น ก็เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงจระเข้ของไทย มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน
ดร. เพียงเพ็ญ วงศ์นภาพรรณ (หัวหน้าโครงการ)
999 ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
เบอร์ติดต่อ: 0 2849 6056 และ 0 2849 6057 โทรสาร : 0 2849 6054
E-mail: piengpenb22@gmail.com