รูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านน้ำและขยะ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

1,475 VIEW

องค์ความรู้

การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการน้ำและขยะ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

สรุปองค์ความรู้

การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการน้ำและขยะ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

P1_RLH10002 P2_RLH10002
ภาพ สภาพแหล่งน้ำโดยรอบเทศบาลตำบลอัมพวา     ภาพ สภาพแหล่งน้ำบริเวณคลองอัมพวา

ศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านน้ำและขยะ โดยศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านน้ำ และขยะ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อหารูปแบบการมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านน้ำและขยะ
โดยข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ได้จากการสำรวจเชิงพื้นที่ของอำเภออัมพวาโดยเลือกพื้นที่แบบเจาะจงตามโครงสร้างทางสังคมคือเทศบาลตำบลอัมพวา อบต.ท่าคา อบต.สวนหลวง อบต.บางแค อบต.เหมืองใหม่ อบต.แควอ้อม อบต.บางนางลี่ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาคือ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่อำเภอ จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,364 คน เครื่องมือที่ใช้ได้แก่แบบสอบถาม โดยสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบ One- Way ANOVA โดยกำหนดค่าระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และการวิจัยเชิงคุณภาพเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงในพื้นที่ 6 ตำบล ได้แก่ อบต.ท่าคา อบต.สวนหลวง อบต.บางแค อบต.เหมืองใหม่ อบต.แควอ้อม อบต.บางนางลี่ จำนวนประชากร 63 คน การวิเคราะห์ข้อมูลโดยนำเนื้อหาวิจัยในเชิงปริมาณมาสังเคราะห์พร้อมสร้างกรอบคำถามและนำมาทำการสัมภาษณ์และสนทนากลุ่มแก่กลุ่มตัวอย่าง
ผลการศึกษา พบว่า ระดับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านน้ำและขยะ ในด้านต่าง ๆ ดังนี้
- ระดับปานกลาง ได้แก่ ด้านการวางแผน ด้านการปฏิบัติการ ด้านการประเมินผล
- ระดับน้อย คือด้านการได้รับประโยชน์
ดังนั้นระดับการมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านน้ำและขยะในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง
ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการน้ำและขยะ ประกอบด้วย อายุ ระยะเวลาที่อยู่ในชุมชน การเป็นสมาชิก มีความแตกต่างกันที่นัยสำคัญทางสถิติ 0.05 ในด้านปฏิบัติการ การรับประโยชน์ และด้านการประเมินผล ส่วนด้านการวางแผนไม่มีความแตกต่างกัน สำหรับปัจจัยด้านสถานภาพ ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้ มีความแตกต่างกันที่นัยสำคัญทางสถิติ 0.05 ในด้านปฏิบัติการ การรับประโยชน์ ส่วนการประเมินผลและการวางแผนไม่มีความแตกต่างกัน
รูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านน้ำและขยะมีความสัมพันธ์กับการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านน้ำและขยะอย่างมีส่วนร่วมใน 4 ประการ ได้แก่
1) การมีส่วนร่วมในด้านการวางแผน กำหนดการวางแผนร่วมกัน กำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ การตัดสินใจและการสร้างผู้นำรุ่นใหม่โดยผู้ใหญ่เป็นแบบอย่างที่ดี
2) การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติการ เป็นขั้นตอนในการปฏิบัติกิจกรรม และส่งเสริมช่วยเหลือให้เกิดการปฏิบัติกิจกรรมตามแผน
3) การมีส่วนร่วมในการรับประโยชน์ เป็นการร่วมรับประโยชน์ที่เกิดขึ้นทั้งผลประโยชน์ทางตรงและผลประโยชน์ทางอ้อม
4) การมีส่วนร่วมติดตามประเมินผลและตรวจสอบเป็นการตรวจสอบการดำเนินงานและการสอบถามความคิดเห็น เพื่อให้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและนำไปปรับปรุงแก้ไขเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชนให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

P3_RLH10002 P4_RLH10002 
ภาพ การตอบแบบสอบถามของนักเรียนชั้นมัธยม        ภาพ ภาพบรรยากาศการเก็บข้อมูล
พื้นที่วิจัย: อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากงานวิจัย : อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
ปีงบประมาณที่ได้รับทุน (งานวิจัย): ปีงบประมาณ 2553 
แหล่งทุน ได้รับทุนอุดหนุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
ปีที่เผยแพร่ (งานวิจัย): -
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ประโยชน์: -
ข้อเสนอแนะ: -
การวิจัยพบว่า รูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน แนวคิดทางด้านสิ่งแวดล้อมในการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านน้ำและขยะ โดยคณะผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะที่เกิดมาจากการวิจัยดังนี้
       1. ข้อเสนอแนะในระดับนโยบาย
1.1 ชุมชนในแต่ละพื้นที่มีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านน้ำและขยะแต่ขาดภาคเอกชนและภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา ดังนั้นรัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรเข้ามาวางระบบกลไก รวมทั้งด้านงบประมาณ
1.2 ควรมีคณะกรรมการหรือองค์กรระดับประเทศ ที่เป็นกลไกกลางในการรับผิดชอบการส่งเสริม สนับสนุน รวมถึงติดตามผลและสังเคราะห์องค์ความรู้การมีส่วนร่วม เพื่อทำให้การมีส่วนร่วมในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยคณะกรรมการดังกล่าวควรมีตัวแทนจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
       2. ข้อเสนอแนะในระดับปฏิบัติ
2.1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรมีการระดมการมีส่วนร่วมจากชุมชนในพื้นที่จัดทำเป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมร่วมกันอย่างต่อเนื่องซึ่งในบางอบต.ได้จัดทำแล้ว
2.2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับหน่วยงานในทุกภาคส่วนของพื้นที่ ควรให้ความสำคัญและสนับสนุนการรวมกลุ่มของประชาชน ให้เข้ามามีบทบาทจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่าง ๆ การคิดค้นแผนการร่วมมือ โครงการนำร่องและเป็นพี่เลี้ยงหรือกลไกประสานงานชุมชนและขยายผลไปยังพื้นที่ของ อบต. อื่น ๆ
2.3 การระดมทุนจากภาคสังคมที่มีส่วนเกี่ยวข้องอาทิ องค์กร มูลนิธิที่จัดการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมในทุกด้านอย่างครอบคลุมและทุกพื้นที่ จะก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนตลอดไป
       3. ข้อเสนอแนะในการทำวิจัย 
3.1 ควรศึกษาถึงรูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านน้ำและขยะในประเด็นปัญหาการวิจัยที่ว่า ทำอย่างไรชุมชนจึงจะได้รับประโยชน์จากการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อม และเอื้อประโยชน์ต่อชุมชนให้มากขึ้น
3.2 ควรศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อมในทุกด้านและขยายพื้นที่ศึกษาเป็นระดับอำเภอและระดับจังหวัด เพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อไป
3.3 ควรสร้างกระบวนการเรียนรู้ทางสิ่งแวดล้อมพร้อมกับสร้างจิตสำนึกให้แก่เยาวชน เป็นอันดับแรกและขยายผลไปสู่ โรงเรียน วัด และบ้าน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดการยั่งยืนในอนาคต
3.4 ควรขยายขอบเขตการศึกษาวิจัย ระดับการมีส่วนร่วมและปัจจัยของชุมชนในการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านน้ำและขยะ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ให้มีเนื้อหาครอบคลุมในหลาย ๆ เรื่องเพื่อนำมาเป็นแนวทางในจัดการสิ่งแวดล้อมของชุมชนให้ดีขึ้น
3.5 ควรขยายประชากรที่ใช้ในการศึกษาวิจัยให้มีขนาดที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น รวมไปถึง ประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การสร้างตัวแบบหรือแนวทางในการจัดการสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนในการพัฒนาชุมชนได้อย่างสอดคล้องและลงตัว
3.6 ควรศึกษาวิจัยการเปรียบเทียบความแตกต่างต่อระดับปัจจัยส่วนบุคคลและปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจ ด้านน้ำและขยะ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และประชาชนจังหวัดอื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งปัญหา ทางแก้ไข และการสร้างรูปแบบการมีส่วนร่วมในทุกด้านให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมในอนาคต
ผู้วิจัยมีความเห็นว่าประชาชนในชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรปรับปรุงวิธีการบริหารจัดการ โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนได้มีโอกาสเข้าร่วมตัดสินใจโครงการต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อชุมชนของเขาด้วยตนเอง และมอบงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในชุมชนมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและหาวิธีดำเนินการ สนับสนุนงบประมาณเสริมสร้างกิจกรรมและการดำเนินงานของประชาชนในชุมชน เช่น เงินกองทุนเพื่อพัฒนาชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ให้คำปรึกษา แนะนำ หรือสนับสนุนในบางประการเท่านั้น ควรส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มอายุและอาชีพ ได้เรียนรู้และรู้จักจัดการสิ่งแวดล้อม เปิดโอกาสให้คณะผู้บริหาร และประชาชน ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดในการกำหนดทิศทางการพัฒนา และเป็นผู้รับรู้ปัญหาและความต้องการของประชาชนได้โดยตรง เพื่อจะได้แก้ปัญหาได้ตรงจุดและทันเวลา อีกทั้งเป็นการสร้างทัศนคติของประชาชนให้มองสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัว

ช่องทางการติดต่อ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศรีสุวรรณ เกษมสวัสดิ์ (หัวหน้าโครงการ)
1 ถนน อู่ทองนอก แขวง ดุสิต เขต ดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
เบอร์ติดต่อ: 0 2160 1143
E-mail: srisuwank1961@gmail.com

ไฟล์ข้อมูลประกอบ

ดาวน์โหลด  ดาวน์โหลด 2