การทำปุ๋ยหมักจากผักตบชวาที่ขุดลอกจากแหล่งน้ำ
เนื่องจากผักตบชวาที่ขุดลอกขึ้นมาเป็นผักตบชวาสด มีน้ำเป็นส่วนประกอบในตัวของผักตบชวาและน้ำที่ติดมากับการขุดลอกกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ และเป็นพืชที่มีระบบรากฝอยจำนวนมากจึงดูดซับแร่ธาตุต่างๆ จากตะกอนในน้ำเก็บไว้ในส่วนของต้นและราก เฉลี่ยมีปริมาณไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ไม่น้อยกว่า 1 0.25 และ 4 เปอร์เซ็นต์ สำหรับโลหะหนักพบในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน นอกจากนี้สัดส่วนคาร์บอนต่อไนโตรเจนประมาณ 30:1 จัดเป็นวัสดุที่ย่อยสลายง่าย ดังนั้นผักตบชวาจึงเป็นวัสดุชนิดหนึ่งที่มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับทำปุ๋ยหมัก ขั้นตอนการทำปุ๋ยหมัก 1) นำสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 จำนวน 10 ซอง ใส่ลงในเชื้อขยายซุปเปอร์ พด.6 คนให้เข้ากันประมาณ 5 นาที 2) นำไปฉีดพ่นบนกองผักตบชวาให้ทั่วเฉพาะครั้งแรกที่เริ่มดำเนินการ อัตรา 450 ลิตร ต่อผักตบชวาสด 1,000 ตัน 3) ในครั้งต่อๆ ไปให้ฉีดพ่นด้วยเชื้อขยายซุปเปอร์ พด.6 เท่านั้น อัตรา 450 ลิตร ทุก 7 วัน จนกระทั่งกลิ่นเหม็นในกองปุ๋ยหมักลดลงหรือไม่มีกลิ่น เนื่องจากเป็นวัสดุกองใหญ่ จึงใช้รถแบ็คโฮหรือรถท็กเตอร์ พลิกกลับกอง 1-2 ครั้ง เพื่อระบายความร้อนและเพิ่มอากาศให้กับกองปุ๋ยหมัก ใช้เวลาหมักประมาณ 45-60 วัน โดยผักตบชวาสด 1,000 ตัน จะได้ปุ๋ยหมักที่ความชื้น 35 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 185 ตัน และเนื่องจากผักตบชวาที่ขุดลอกจากลำน้ำมีปริมาณมหาศาล ส่วนหนึ่งมีการเคลื่อนย้ายออกไป แต่ปริมาณส่วนมากถูกนำมากองไว้ปริเวณใกล้ลำน้ำ ซึ่งจะส่งกลิ่นเหม็นของน้ำที่ไหลจากการหมักหมมของกองผักตบชวา และกลิ่นน้ำเน่าของน้ำคลองที่ติดขึ้นมา เพื่อเป็นการบำบัดน้ำเน่าจากกองปุ๋ยหมัก จะใช้เชื้อขยายซุปเปอร์ พด.6 ใส่ในร่องน้ำปริมาณ 3 ลิตรต่อน้ำเน่า 10 ลูกบาศก์เมตร ทุก ๆ 7 วัน หรือจนกระทั่งไม่มีกลิ่น
กลุ่มวิชาการ (หัวหน้าโครงการ)
สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6
เบอร์ติดต่อ: 0 5312 1167